หน่วยที่ 3 มงคลสูตรคำฉันท์

หน่วยที่ 3 มงคลสูตรคำฉันท์

                     หน่วยที่ 3 มงคลสูตรคำฉันท์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

                  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๑ มกราคมพ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช ๒๔๕๓ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ รวมพระชนมพรรษา ๔๕ พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม ๑๕ ปี

                พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญ พระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า “ สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ” พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ใน พระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน

              พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งแรกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างแล้วเสร็จเมื่อพ.ศ. ๒๔๘๕ ประดิษฐาน ณ สวนลุมพินี ซึ่งเป็นบริเวณที่ดินส่วนพระองค์ ที่พระราชทานไว้เป็นสมบัติของประชาชน เพื่อจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์แสดงสินค้าไทยแก่ชาวโลกเป็นครั้งแรก เพื่อบำรุงเศรษฐกิจและพาณิชยกรรมของประเทศ ( แต่มิทันได้จัดก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ) และทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าเมื่อเสร็จงานแล้ว จะพระราชทานเป็นสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจแห่งแรกในกรุงเทพ ฯ ทั้งนี้ ในวันคล้ายวันสวรรคตของทุกปี วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลา ถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ ณ สวนลุมพินีแห่งนี้ ในวันนั้นมีหน่วยราชการ หน่วยงานเอกชน นิสิตนักศึกษา พ่อค้าประชาชนจำนวนมากไปวางพวงมาลาถวายราชสักการะ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย ณ วชิราวุธวิทยาลัย

หลักการอ่านคำประพันธ์ประเภทคำฉันท์

           ฉันท์ เป็นลักษณ์หนึ่งของร้อยกรองในภาษาไทย โดยแต่งกันเป็นคณะ มี ครุ และ ลหุ และสัมผัส กำหนดเอาไว้ด้วย ฉันท์ในภาษาไทยได้ถ่ายแบบมาจากประเทศอินเดีย ตามตำราที่เขียนถึงวิธีแต่งฉันท์ไว้ เรียกว่า “คัมภีร์วุตโตทัย” ซึ่งแต่เดิมฉันท์จะแต่งเป็นภาษาบาลีและสันสกฤต

ต่อมา เมื่อเผยแพร่ในประเทศไทย จึงเปลี่ยนแบบมาแต่งในภาษาไทย โดยเพิ่มเติมสัมผัสต่าง ๆ ขึ้นมา แต่ยังคงคณะ ( จำนวนคำ ) และเปลี่ยนลักษณะครุ – ลหุแตกต่างไปเล็กน้อย นอกจากนี้ยังเพิ่มความไพเราะของภาษาไทยลงไปอีกด้วย

         การอ่านทำนองเสนาะคำฉันท์ที่ถูกต้องไพเราะ จำเป็นต้องรู้จักลักษณะบังคับทั่วไปของของคำฉันท์ และ ลักษณะเฉพาะของคำฉันท์แต่ละชนิด ฉันท์มีลักษณะบังคับพิเศษแตกต่างกับคำประพันธ์ชนิดอื่น โดยบังคับคำลหุ คำครุ แทนคำธรรมดา นอกจากนี้ยังบังคับสัมผัสเช่นเดียวกับคำประพันธ์ชนิดอื่น การอ่านทำนองเสนาะคำฉันท์มีหลักเกณฑ์การอ่านเหมือนกับคำประพันธ์ทั่วไป คือ

๑. อ่านทอดจังหวะคำแต่ละวรรคตามแต่ชนิดของฉันท์

๒. อ่านออกเสียงคำให้ถูกต้องตามลักษณะบังคับลหุครุของฉันท์แต่ละชนิด

๓. คำสุดท้ายวรรคที่ใช้คำเสียงจัตวา ต้องอ่านให้เสียงสูงเป็นพิเศษ เพื่อความไพเราะ

ใช้คำเสียงจัตวาตรงท้ายคำบาทแรก

๔. อินทรวิเชียรฉันท์ แบ่งจังหวะการอ่านวรรคหน้า ๒ จังหวะ จังหวะ ๒ คำ และ จังหวะ ๓ คำ วรรคหลัง ๒ จังหวะ จังหวะละ ๓ คำ

รอนรอน / และอ่อนแสง นภะแดง / สิแปลงไป

เป็นคราม / อร่ามใส สุภะสด / พิสุทธิ์สี

การอ่านคำประพันธ์ประเภทฉันท์จะแตกต่างจากคำประพันธ์ประเภทอื่น เนื่องจากการอ่านฉันท์จะต้องอ่านตามฉันทลักษณ์ ครุ – ลหุ ของฉันท์ แต่ละชนิด ดังเช่น อินทรวิเชียรฉันท์ต้องอ่านออกเสียงดังนี้

เสียงเจ้าสิพรากว่า ดุริยางคดีดใน

ฟากฟ้าสุราลัย สุรศัพทเริงรมย์

เสียง- เจ้า / สิ- พราก- ว่า ดุ-ริ-ยาง / คะ-ดีด-ใน

ฟาก-ฟ้า / สุ-รา-ไล สุ-ระ-สับ / ทะ-เริง-รม

หลักการดู

ประเภทของการดู

การดูมี ๒ ประเภท คือ

๑. การดูจากของจริง เช่น การชมการสาธิต การไปทัศนาจร ฯลฯ

๒. การดูผ่านสื่อ เช่น สื่อโทรทัศน์ ภาพถ่าย สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อภาพยนตร์ สัญลักษณ์ ฯลฯ

หลักการดูที่ดี

๑. ดูอย่างมีจุดมุ่งหมาย

คือ ดูไปเพื่ออะไร เพื่อความรู้ เพื่อความเพลิดเพลิน หรือ เพื่อให้ได้ข้อคิดในการ

นำไปปฏิบัติตาม

๒. ดูในสิ่งที่ควรดู

เช่น ผู้ที่อยู่ในวัยเรียน ควรดูรายการที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาเล่าเรียน ได้แก่ รายการตอบปัญหาทางวิชาการ รายการที่มุ่งให้แนวทางการปฏิบัติตนให้เหมาะสม ฯลฯ

๓. ดูอย่างมีวิจารณญาณ

ให้ดูและคิดไตร่ตรองหาเหตุและผลทุกครั้ง

๔. ดูแล้วนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์

การดูภาพสัญลักษณ์ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูเพื่อให้เข้าใจและนำมาใช้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

เช่น สัญลักษณ์ที่แสดงเครื่องหมายการจราจร เครื่องหมายห้ามผ่าน เครื่องหมายอันตราย ฯลฯ

หลักการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม

ความหมาย

              การพินิจ คือ การพิจารณาตรวจตรา พร้อมทั้งวิเคราะห์แยกแยะและประเมินค่าได้

ทั้งนี้นอกจากจะได้ประโยชน์ต่อตนเองแล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อนำไปแสดงความคิดเห็นและข้อเท็จจริงให้ผู้อื่นได้ทราบด้วย เช่น การพินิจวรรณคดีและวรรณกรรมเพื่อแนะนำให้บุคคลทั่วไปที่เป็นผู้อ่านได้รู้จักและได้ทราบรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น ใครเป็นผู้แต่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีประโยชน์ต่อใครบ้าง ทางด้านใด ผู้พินิจมีความเห็นว่าอย่างไร คุณค่าในแต่ละด้านสามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์อย่างไรในชีวิตประจำวัน

แนวทางในการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม

           การพินิจวรรณคดีและวรรณกรรมมีแนวให้ปฏิบัติอย่างกว้าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมงานเขียนทุกชนิด ซึ่งผู้พินิจจะต้องดูว่าจะพินิจหนังสือชนิดใด มีลักษณะเฉพาะอย่างไร ซึ่งจะมีแนวในการพินิจที่จะต้องประยุกต์หรือปรับใช้ให้เหมาะสมกับงานเขียนนั้น ๆ

หลักเกณฑ์กว้าง ๆ ในการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม มีดังนี้

๑. ความเป็นมา หรือ ประวัติของหนังสือและผู้แต่ง

เพื่อช่วยให้วิเคราะห์ในส่วนอื่น ๆ ได้ดีขึ้น

๒. ลักษณะคำประพันธ์

๓. เรื่องย่อ

๔. เนื้อเรื่อง

ให้วิเคราะห์เรื่องตามหัวข้อต่อไปนี้ตามลำดับ โดยบางหัวข้ออาจจะมี หรือไม่มี

ก็ได้ตามความจำเป็น เช่น โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก วิธีการแต่ง ลักษณะการดำเนินเรื่อง การใช้ถ้อยคำสำนวนในเรื่อง ท่วงทำนองการแต่ง วิธีคิดที่สร้างสรรค์ ทัศนะหรือมุมมองของผู้เขียน เป็นต้น

๕. แนวคิด จุดมุ่งหมาย

เจตนาของผู้เขียนที่ฝากไว้ในเรื่อง หรือบางทีก็แฝงเอาไว้ในเรื่อง ซึ่งจะต้อง

วิเคราะห์ออกมา

๖. คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม

ซึ่งโดยปกติแล้วจะแบ่งออกเป็น ๔ ด้านใหญ่ ๆ และกว้าง ๆ เพื่อความครอบคลุม

ในทุกประเด็น ซึ่งผู้พินิจจะต้องไปแยกแยะหัวข้อย่อยให้สอดคล้องกับลักษณะหนังสือ

ที่จะพินิจนั้น ๆ ตามความเหมาะสมต่อไป

การพินิจคุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม

มี ๔ ประเด็นดังนี้

๑. คุณค่าด้านวรรณศิลป์

คือ ความไพเราะของบทประพันธ์ ซึ่งอาจจะเกิดจากรสของคำที่ผู้แต่งเลือกใช้

และรสความที่ให้ความหมายกระทบใจผู้อ่าน

๒. คุณค่าด้านเนื้อหา

คือ การให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ให้คุณค่าทางปัญญาและความคิดแก่ผู้อ่าน

๓. คุณค่าด้านสังคม

วรรณคดีและวรรณกรรมสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมในอดีตและวรรณกรรมที่ดี

สามารถจรรโลงสังคมได้อีกด้วย

๔. การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

เพื่อให้ผู้อ่านได้ประจักษ์ในคุณค่าของชีวิต ได้ความคิดและประสบการณ์จาก

เรื่องที่อ่าน และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต นำไปเป็นแนวปฏิบัติหรือแก้ปัญหา

คำมูล และ คำประสม

คำมูล

คือ คำที่ตั้งขึ้นเฉพาะคำเดียว ๆ จะเป็นคำที่มาจากภาษาไหนก็ดี หรือคำที่ตั้งขึ้นใหม่ในภาษาไทยเฉพาะคำหนึ่ง ๆ ก็ดี เรียกว่า คำมูล คำเหล่านี้บางทีก็มีความหมายพ้องกัน เช่น ขัน หมายความว่า น่าหัวเราะก็ได้ เครื่องตักน้ำก็ได้ ไก่ หรือ นก บางอย่างทำเสียงอย่างหนึ่งก็ได้

เป็นต้น ดังนี้นับว่าเป็นคำมูลเหมือนกัน เพราะเป็นคำเดียวโดด ๆ

คำประสม

               คือ คำที่เกิดจากการนำหน่วยคำอิสระที่มีความหมายต่างกันอย่างน้อย ๒ หน่วยมารวมกัน เกิดเป็นคำใหม่คำหนึ่งมีความหมายใหม่ เกณฑ์ที่ใช้แยกคำประสมออกจากคำประเภทอื่น กลุ่มคำ และประโยค มีดังนี้

๑. คำประสมเป็นคำที่มีความหมายใหม่ ต่างจากความหมายที่เป็นผลรวมของหน่วยคำที่มารวมกัน แต่มักมีเค้าความหมายของหน่วยคำเดิมอยู่ เช่น

ผ้า + ขี้ริ้ว = ผ้าเก่าขาดที่ใช้เช็ดถูพื้น

น้ำ + แข็ง = น้ำที่แข็งเป็นก้อนเพราะถูกความเย็นจัด

หนังสือ + พิมพ์ = สิ่งพิมพ์ที่เสนอข่าวสารและความเห็นแก่ประชาชน

มักออกเป็นรายวัน

๒. คำประสมจะแทรกคำใด ๆ ลงระหว่างหน่วยคำที่นำมารวมกันนั้นไม่ได้ ถ้าสามารถแทรกคำอื่นลงไปได้ คำที่รวมกันนั้นจะไม่ใช่คำประสม เช่น

ลูกช้างเดินตามแม่ช้าง = ลูกช้าง แปลว่า ลูกของช้าง สามารถแทรกคำว่า ของ

ระหว่างลูกกับช้างได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่คำประสม

เจ้าแม่ช่วยลูกช้างด้วย = ลูกช้าง เป็นคำสรรพนามแทนตัวผู้พูดเมื่อพูดกับสิ่ง

ศักดิ์สิทธิ์ ไม่สามารถแทรกคำใด ๆ ระหว่างคำว่า ลูก กับ ช้าง ได้ ประโยคนี้จึงเป็นคำประสม

๓. คำประสมเป็นคำคำเดียว หน่วยคำที่เป็นส่วนประกอบของคำประสมไม่สามารถย้ายที่ หรือ สลับที่กันได้ เช่น

ฉันกินข้าวมาแล้ว = สามารถย้ายคำว่า ข้าว ไปไว้ต้นประโยค เป็น ข้าว

ฉันกินมาแล้ว ได้ จึงไม่ใช่คำประสม

เขานั่งกินที่ = ไม่สามารถย้ายคำว่า กิน หรือ ที่ ไปไว้ที่อื่นได้ จึงเป็น

คำประสม

๔. คำประสมจะออกเสียงต่อเนื่องกันไปโดยไม่หยุด หรือ เว้นจังหวะระหว่างหน่วยคำที่เป็นส่วนประกอบ เช่น

ดินเหนียว = ถ้าออกเสียงต่อเนื่องกันไป หมายถึง ดินชนิดหนึ่ง มี

เนื้อเหนียว เป็นคำประสม ถ้ามีช่วงเว้นจังหวะระหว่าง

ดิน กับ เหนียว หมายถึง ดินมีสภาพเหนียว เป็นประโยค

กาแฟเย็น = ถ้าออกเสียงต่อเนื่องกันไป หมายถึง การแฟใส่นมใส่

น้ำแข็ง เป็นคำประสม ถ้ามีช่วงเว้นจังหวะระหว่าง

กาแฟ กับ เย็น หมายถึง กาแฟร้อนที่ทิ้งไว้จนเย็น

เป็นประโยค

๕. คำประสมบางคำ ไม่มีความสัมพันธ์ทางวากยสัมพันธ์ระหว่างหน่วยคำที่เป็นส่วนประกอบ เช่น

กินน้ำ = ไม่เป็นคำประสม เพราะหน่วยคำว่า กิน กับ น้ำ

มีความสัมพันธ์ทางวากยสัมพันธ์แบบ กริยา – กรรม

กินใจ = เป็นคำประสม หน่วยคำว่า กิน กับ ใจ ไม่มี

ความสัมพันธ์ทางวากยสัมพันธ์

หน่วยคำที่มารวมกันเป็นคำประสม อาจจะเป็น คำนาม คำกริยา คำจำนวนนับ คำลำดับที่ หรือ คำบุพบท เมื่อนำคำชนิดนั้น ๆ มาประกอบกันแล้ว ส่วนใหญ่จะได้คำประสมที่เป็นคำนาม หรือ คำกริยา ดังตัวอย่างต่อไปนี้

๑. คำประสมที่เป็นนาม

๑ ) นาม + นาม เช่น ดอกฟ้า , วัวนม , ตีนกา , บัตรโทรศัพท์ , หมูกระทะ

๒ ) นาม + นาม + นาม เช่น แม่ย่านาง , เด็กหลอดแก้ว , รถไฟฟ้า

๓ ) นาม + ลักษณนาม เช่น ไอติมแท่ง , บะหมี่ซอง , น้ำขวด

๔ ) นาม + กริยา เช่น กล่องดำ , มือถือ , หมูหัน , ยีนส์ฟอก

๕ ) นาม + กริยา + นาม เช่น ลิงชิงหลัก , แปรงสีฟัน , บัตรเติมเงิน

๖ ) นาม + กริยา + กริยา เช่น สารกันบูด , ใบขับขี่ , น้ำแข็งใส

๗ ) นาม + บุพบท + นาม เช่น รถใต้ดิน , คนหลังเขา , บัวใต้น้ำ

๘ ) กริยา + กริยา เช่น กันชน , ห่อหมก , จิ้มจุ่ม , พิมพ์ดีด , กรอบเค็ม

๙ ) กริยา + นาม เช่น เท้าแขน , รองพื้น , บังตา

๑๐ ) บุพบท + นาม เช่น ในหลวง , ที่บ้าน , ใต้เท้า , หลังบ้าน

๒. คำประสมที่เป็นกริยา

๑ ) กริยา + กริยา เช่น ซักฟอก , กวาดล้าง , ผสมเทียม , บรรยายสด

๒ ) กริยา + นาม เช่น ยกเมฆ , เทคะแนน , ขายเสียง , ปิดปาก

๓ ) กริยา + นาม + กริยา เช่น ขีดเส้นตาย , ลดช่องว่าง , ตีบทแตก

๔ ) กริยา + บุพบท เช่น เป็นกลาง

๕ ) กริยา + บุพบท + นาม เช่น กินตามน้ำ , ตีท้ายครัว

๖ ) นาม + กริยา เช่น มือใหม่ , หัวโบราณ , ตาแข็ง

๗ ) นาม + กริยา + นาม เช่น เลือดเข้าตา , น้ำท่วมปาก

คำประสมมีความหมายเป็น ๓ ลักษณะ คือ

๑. ความหมายเปรียบเทียบ เช่น ตีนแมว , เหยี่ยวข่าว , ขึ้นคาน , หัวสูง , ดอกฟ้า

๒. ความหมายเฉพาะ เช่น ข้าวต้มมัด , ยาบ้า , หน้าอ่อน , หมาบ้า , เบาใจ

๓. ความหมายใกล้เคียงกับคำเดิม เช่น งูพิษ , ยางลบ , เข็มฉีดยา , ผ้าเช็ดหน้า

คำซ้ำ และ คำซ้อน

คือ คำที่ประกอบด้วยหน่วยคำ ๒ หน่วย ซึ่งเหมือนกันทุกประการ หรืออีกนั้นหนึ่ง การพูดหรือเขียนคำใดคำหนึ่งอีกครั้งทำให้เกิดคำซ้ำ ในการเขียนคำซ้ำจะใช้เครื่องหมายไม้ยมก ( ๆ ) แทนคำที่ซ้ำ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความหมายของคำและบริบท

ลักษณะของคำซ้ำ

๑. คำซ้ำจะเป็นคำชนิดใดก็ได้ ที่ออกเสียงซ้ำกัน ๒ ครั้ง

เช่น เด็ก ๆ , หนุ่ม ๆ , เร็ว ๆ , ช้า ๆ , น้อย ๆ ฯลฯ

๒. นำคำซ้อนมาแยกซ้ำกัน

เช่น เลียบ ๆ เคียง ๆ , อิด ๆ ออด ๆ , นุ่ม ๆ นิ่ม ๆ ฯลฯ

๓. นำคำซ้ำมาซ้อนกัน

เช่น นั่ง ๆ นอน ๆ , ลม ๆ แล้ง ๆ , ดี ๆ ชั่ว ๆ , ไป ๆ มา ๆ ,

ความหมายของคำซ้ำ

๑. บอกความหมายเป็นพหูพจน์

มักเป็นคำนามและสรรพนาม เช่น

– น้องพาเพื่อน ๆ มาเล่นที่บ้าน

– เขาอยู่กันตามประสาเด็ก ๆ

– หนุ่ม ๆ กำลังเล่นฟุตบอล

๒. บอกความหมายเป็นเอกพจน์แยกจำนวนออกเป็นส่วน ๆ

มักเป็นคำลักษณนาม เช่น

– ล้างชามให้สะอาดเป็นใบ ๆ

– อ่านหนังสือเป็นเรื่อง ๆ

– ทำงานให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ไป

๓. เน้นความหมายของคำเดิม

มักเป็นคำวิเศษณ์ เช่น พูดดัง ๆ , ฟังดี ๆ , นั่งนิ่ง ๆ , เดินเร็ว ๆ , ยืนริม ๆ หน่อย

ถ้าต้องการเน้นให้เป็นจริงเป็นจังอย่างมั่นใจมากขึ้น เราจะเน้นระดับเสียงวรรณยุกต์ที่

คำหน้า เช่น เสียงดั๊งดัง , พูดดี๊ดี , ช่างเงี๊ยบเงียบ

๔. ลดความหมายของคำเดิม

มักเป็นคำวิเศษณ์บอกสี เช่น เสื้อสีแดง ๆ , กางเกงสีดำ ๆ , รถสีขาว ๆ

๕. บอกความหมายเป็นสำนวนเปลี่ยนความหมายใหม่ต่างไปจากความหมายเดิม

เพื่อแสดงความหมายเชิงอุปมา เช่น

– กล้วย ๆ แปลว่า ง่าย

– พื้น ๆ แปลว่า ธรรมดา

– ลวก ๆ แปลว่า ขอไปที

– ไป ๆ มา ๆ แปลว่า ผลที่สุด

– งู ๆ ปลา ๆ แปลว่า ไม่ค่อยถนัด , ใช้การไม่ไ

คำซ้อน

         คือ คำที่เกิดจากการนำคำตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปมาเรียงต่อกัน โดยแต่ละคำนั้น มีความสัมพันธ์กันในด้านความหมาย อาจเป็นความหมายเหมือนกัน คล้ายกัน ทำนองเดียวกัน หรือตรงกันข้ามก็ได้ จุดประสงค์ของการซ้อนคำเพื่อให้ได้ความหมายที่ชัดเจน เพื่อเสริมความหมาย และเพื่ออธิบายความหมายของคำในภาษาถิ่นหรือภาษาต่างประเทศ

วิธีการสร้างคำซ้อน มีหลักดังนี้

๑. คำมูลที่นำมาซ้อนกันอาจเป็นคำนาม กริยา หรือวิเศษณ์ก็ได้

คำมูลเหล่านี้ต้องประกอบกับคำชนิดเดียวกัน คือเป็นนามด้วยกันหรือเป็นกริยาด้วยกัน

และทำหน้าที่ได้ต่างกัน เช่นเดียวกับชนิดของคำมูลที่นำมาซ้อนกัน เช่น

– นามกับนาม เช่น เนื้อตัว , เรือแพ , ลูกหลาน , เสื่อสาด , หูตา

– กริยากับกริยา เช่น ชมเชย , ทดแทน , เรียกร้อง , ว่ากล่าว , สั่งสอน

– วิเศษณ์กับวิเศษณ์ เช่น เข้มงวด , แข็งแกร่ง , ฉับพลัน , ซีดเซียว , เด็ดขาด

๒. คำมูลที่นำมาซ้อนกันอาจเป็นคำในภาษาใดก็ได้

อาจเป็นคำไทยกับคำไทย คำไทยกับคำที่มาจากภาษาอื่น หรือเป็นคำที่มาจากภาษาอื่น

ทั้งหมด เช่น

– คำไทยกับคำไทย เช่น ทุบตี , ดุร้าย , ล่มจม , แก้ไข , คิดอ่าน

– คำไทยกับคำเขมร เช่น เขียวขจี , ร้ายกาจ , โง่เขลา , เชี่ยวชาญ , ละเอียดลออ

– คำไทยกับคำบาลี – สันสกฤต เช่น โชคลาง , ขอบเขต , ทรัพย์สิน , ทุกข์ยาก

คำเขมรกับคำเขมร เช่น ขจัดขจาย , เฉลิมฉลอง , เลอเลิศ , สนุกสนาน

– สันสกฤต เช่น ตรัสประภาษ , สรงสนาน , เสบียงอาหาร

๓. คำมูลที่นำมาซ้อนกัน ส่วนมากเป็นคำมูล

ส่วนใหญ่เป็นคำมูล ๒ พยางค์ ถ้ามากกว่านั้นมักเป็นคำมูล ๔ พยางค์ อาจจะแบ่งได้ดังนี้

๑ ) คำซ้อนที่เป็นคำธรรมดา เช่น เหินห่าง , มากมาย , ซักฟอก , ข่มขู่ , บุกรุก

๒ ) คำซ้อนที่เป็นสำนวนคล้องจองกัน

– ชนิดที่มีคู่กลางสัมผัสกัน เช่น บ้านช่องห้องหอ , วัดวาอาราม , เกะกะระราน

– ชนิดที่มีพยางค์หน้าซ้ำกัน เช่น มีชื่อมีเสียง , นอกลู่นอกทาง , ติดอกติดใจ

ลักษณะและความหมายของคำที่นำมาซ้อน

คำซ้อนมี ๓ ลักษณะ คือ

๑. คำซ้อนที่ประกอบด้วยคำ ๒ คำขึ้นไปที่มีความหมายตรงกันข้าม

เช่น ถูกผิด , สูงต่ำ , ผิดชอบ , หนักเบา , ชั่วดี , มากน้อย , เป็นตาย , มีจน ,

บาปบุญ , เปรี้ยวหวาน ฯลฯ

๒. คำซ้อนเพื่อความหมาย ( ซ้อนความ )

จะเป็นคำ ๒ คำที่มีความหมายคล้ายกันหรือใกล้เคียงกันมาเรียงต่อกัน เช่น ติดต่อ ,

สดใส , เหี่ยวแห้ง , เปิดเผย , ใช้จ่าย , เพาะปลูก , ผูกพัน , ปิดบัง , คัดเลือก , ตบตี , ทอดทิ้ง

๓. คำซ้อนเพื่อเสียง ( อาจเรียก คำคู่ ก็ได้ )

จะเป็นคำ ๒ คำขึ้นไป ที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะเสียงเดียวกันหรือ มีเสียงสระเข้าคู่กัน เช่น

ท้อแท้ , งอแง , อ้อแอ้ , จุบจิบ , สูสี , จู้จี้ , คู่คี่ , โต๋เต๋ , โงนเงน , กระดุกกระดิก ,

กระจุ๋มกระจิ๋ม , ตุ้งติ้ง , รุ่งริ่ง

คำสมาส

คำสมาส

ความหมาย

แปลตามรูปศัพท์ว่า “ การวางอยู่รวมกัน ” ทั้งในภาษาบาลี และ ภาษาสันสกฤต คือ

การสร้างคำใหม่โดยนำคำที่ใช้อยู่เดิมมารวมกันเป็นคำเดียว มักจะใช้คำที่มาจากภาษาบาลี และ ภาษาสันสกฤต เท่านั้น

องค์ประกอบของคำสมาสในภาษาไทย

สามารถแบ่งตามองค์ประกอบได้ ๓ ประเภทคือ

๑. คำที่มีองค์ประกอบเป็นคำที่มาจากภาษาเดียวกัน – คำบาลี + คำบาลี เช่น

– ฌาปนกิจ < ฌาปน ( ฌาปน ) + กิจ ( กิจฺจ )

– ปฐมวัย < ปฐม ( ปฐม ) + วัย ( วย )

– คำสันสกฤต + คำสันสกฤต เช่น

– มนุษยธรรม < มนุษย ( มนุษฺย ) + ธรรม ( ธรฺม )

– แพทยศาสตร์ < แพทย ( เวทฺย ) + ศาสตร์ ( ศาสฺตฺร )

– คำบาลีและสันสกฤต + คำบาลีและสันสกฤต เช่น

– นิติภาวะ < นิติ ( นีติ ) + ภาพ ( ภาว )

– เอกราช < เอก ( เอก ) + ราช ( ราช )

๒. คำที่มีองค์ประกอบหนึ่งเป็นคำภาษาบาลี ส่วนอีกองค์ประกอบหนึ่งเป็นภาษาสันสกฤต

– คำบาลี + คำสันสกฤต เช่น

– กิจกรรม < กิจ ( กิจฺจ ) + กรรม ( กรฺม )

– รุกขวิทยา < รุกข (รุกฺข) + วิทยา (วิทฺยา)

– คำสันสกฤต + คำบาลี เช่น

– กรรมฐาน < กรรม (กรฺม) + ฐาน (ฐาน)

– ศาสนูปถัมภ์ < ศาสน- (ศาสน) + อุปถัมภ์ (อุปถมฺภ)

๓. คำที่มีองค์ประกอบหนึ่งเป็นคำที่ใช้ทั้งในภาษาบาลีและสันสกฤต แต่อีกองค์ประกอบหนึ่งเป็น

คำที่ใช้แต่ในภาษาบาลี หรือ สันสกฤตเพียงภาษาเดียว

– คำบาลี + คำบาลีและสันสกฤต เช่น

– โบราณคดี < โบราณ ( โปราณ ) + คดี ( คติ )

– กิตติคุณ < กิตติ ( กิตฺติ ) + คุณ ( คุณ )-

– คำสันสกฤต + คำบาลีและสันสกฤต เช่น

– จันทรคติ < จันทร ( จนฺทฺร ) + คติ ( คติ )

– จักรยาน < จักร ( จกฺร ) + ยาน ( ยาน )

– คำบาลีและสันสกฤต + คำบาลี เช่น

– เบญจศีล < เบญจ ( ปญฺจ ) + ศีล ( ศีล )

– อายุขัย < อายุ ( อายุ ) + ขัย ( ขย )

– คำบาลีและสันสกฤต + คำสันสกฤต เช่น

– นามธรรม < นาม ( นาม ) + ธรรม ( ธรฺม )

– คุณลักษณะ < คุณ ( คุณ ) + ลักษณะ ( ลกฺษณ )

วิดีโอ

คำราชาศัพท์ ไตเติ้ล ข่าวในพระราชสำนักช่อง 3

การอ่านออกเสียงคำสมาส

สามารถแบ่งได้เป็น ๔ แบบ คือ

๑. อ่านออกเสียงสระที่ประสมกับพยัญชนะท้ายของคำที่อยู่หน้าเป็นพยางค์เชื่อม

เช่น จักรพรรดิมาลา , นิติกรรม , พยาธิวิทยา , มาตุภูมิ

๒. ในกรณีที่ไม่มีรูปสระ จะเติมเสียง /อะ/ เป็นเสียงเชื่อม

เช่น กฐินกาล , จิตวิทยา , ราชโอรส , ยมบาล

๓. ไม่อ่านออกเสียงสระเชื่อมระหว่างคำ เมื่อคำที่อยู่ข้างท้ายขึ้นต้นด้วยพยางค์เบา

เช่น เกียรตินิยม , เทพธิดา , กาลเวลา , ชาตินิยม

๔. ไม่อ่านออกเสียงเชื่อมระหว่างคำ หากเป็นคำที่ลงจังหวะสี่พยางค์ ซึ่งเหมาะกับเสียง

ในภาษาไทย

เช่น ปทุมธานี , บวรมงคล , บดินทรเดชา , สมุทรปราการ

ลักษณะคำสมาสแบบเข้าสนธิ

การสนธิ เป็นปรากฏการณ์ที่หน่วยเสียง ๒ หน่วย เมื่อมาอยู่ประชิดกันแล้ว หน่วยเสียงใดหน่วยเสียงหนึ่งหรือทั้งสองแปรไป หรือหน่วยเสียง ๒ หน่วย รวมเข้าเป็นหน่วยเสียงเดียวกัน หรือมีหน่วยเสียงอีกหน่วยเสียงหนึ่งเพิ่มเข้ามา

ในภาษาไทยพบปรากฏการณ์ทำนองเดียวกับภาษาบาลี และ สันสกฤต กล่าวคือ พบว่าคำสมาสในภาษาไทย มีทั้งประเภทที่มีสนธิและประเภทที่ไม่มีสนธิ เช่น

๑. คำสมาสที่ไม่มีสนธิ เช่น

– กรณียกิจ < กรณีย- ( กรณีย ) + กิจ ( กิจฺจ )

– วันทยหตถ์ < วันทย- ( วนฺทฺย ) + หัตถ์ ( หตฺถ )

๒. คำสมาสที่มีสนธิ เช่น

– ปรมาณู < ปรม ( ปรม ) + อณู ( อณุ )

– สุโขทัย < สุข ( สุข ) + อุทัย ( อุทย )

นอกจากนี้ยังพบคำที่ยืมจากภาษาบาลี และ สันสกฤต ซึ่งไม่ใช่คำสมาส แต่มีปรากฏการณ์สนธิอยู่ด้วย เช่น

อนามัย < อนามย < อนฺ + อามย

ศุภมัสดุ < ศุภมสฺตุ < ศุภํ + อสฺตุ

         ( PHONOLOGY ) ต่างกับ สมาส ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างคำใหม่ ( WORD FORMATION ) ปรากฏการณ์สนธิไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างคำสมาสเสมอไป คำสมาสทั้งในภาษาบาลี และ สันสกฤต ( รวมทั้งคำสมาสในภาษาไทย ) จึงอาจจะมีสนธิหรือไม่มีสนธิก็ได้

การแปลความหมายตามรูปศัพท์ของคำสมาส

         คำสมาส จะเรียงลำดับคำแบบ หน่วยขยาย + หน่วยหลัก เมื่อแปลจึงต้องแปลจากหน่วยหลักซึ่งเรียงไว้ในตำแหน่งหลังก่อน แล้วจึงแปลหน่วยขยายซึ่งเรียงอยู่ข้างหน้า แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คำสมาสที่แปลจากคำตำแหน่งหน้าไปสู่คำตำแหน่งหลังก็พบได้เช่นเดียวกัน แต่ไม่มากนัก

๑. คำที่แปลจากคำหลังมาคำหน้า เช่น

– เกียรติบัตร แปลว่า บัตรที่ให้เป็นเกียรติ

– สมุทรเจดีย์ ” เจดีย์ที่สร้างกลางน้ำ

– เหมันตฤดู ” ฤดูหนาว

๒. คำที่แปลจากคำหน้าไปคำหลัง เช่น

– ธรรมวินัย แปลว่า พระธรรม และ พระวินัย

– ผลกรรม ” ผลของกรรม

– สรรพางค์ ” ทั่วร่าง

เมื่อเปรียบเทียบความหมายที่ใช้ในภาษาไทยกับความหมายในภาษาบาลี และ สันสกฤต เดิม จะพบความเปลี่ยนแปลง ๓ รูปแบบ คือ

๑. มีความหมายเดียวกับภาษาบาลี และ สันสกฤต เช่น

คำสมาส ความหมาย

ภาษาไทย ภาษาบาลี และ สันสกฤต

มัจจุราช ราชาแห่งความตาย ( ป ) ราชาแห่งความตาย

อรหัตผล ผลที่พระอรหันต์ได้บรรลุ ( ป ) ผลที่พระอรหันต์ได้บรรลุ

ยถากรรม ตามกรรม ( ส ) ตามกรรม

๒. มีความหมายแตกต่างกับภาษาบาลี และ สันสกฤตเล็กน้อย เช่น

คำสมาส ความหมาย

ภาษาไทย ภาษาบาลี และ สันสกฤต

กตัญญู รู้คุณผู้อื่น ( ป ) ผู้รู้คุณผู้อื่น

กรรมกร ผู้ใช้แรงงาน ( ส ) คนงาน , คนรับใช้

มธุรส หวาน ( ป , ส ) รสเหมือนน้ำผึ้ง

๓. มีความหมายแตกต่างกับภาษาบาลี และ สันสกฤตมาก เช่น

คำสมาส ความหมาย

ภาษาไทย ภาษาบาลี และ สันสกฤต

ชนบท ที่ที่อยู่ห่างไกลเมือง ( ป , ส ) แว่นแคว้น

เทพบุตร เทวดาผู้ชาย ,

ชายหนุ่มที่รูปหล่อราวเทวดา (ส) บุตรของเทวดา ,

(ฟ้าและดิน) มีเทวดาเป็นบุตร

มหากาพย์ วรรณกรรมสรรเสริญ

วีรกรรมของวีรบุรุษ (ส) กวีนิพนธ์ซึ่งใช้วรรณศิลป์ชั้นสูง และมีเนื้อหายาวมาก

คำสมาสเทียม

           ในภาษาไทยมีคำประสม หรือ คำซ้อน ซึ่งมีองค์ประกอบส่วนหนึ่งเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาบาลี หรือ สันสกฤต และมักออกเสียงสระ /อะ/ , /อิ/ , /อุ/ เชื่อมรอยต่อระหว่างองค์ประกอบของคำทั้งสองที่มารวมเข้าด้วยกัน แต่คำกลุ่มนี้ไม่ใช่คำสมาส เพราะมีองค์ประกอบที่ไม่ใช่คำยืมภาษาบาลี และ สันสกฤต ปนอยู่ด้วย จึงเรียกคำลักษณะดังกล่าวว่า คำสมาสเทียม

คำสมาสเทียมอาจมีคำที่มาจากภาษาบาลี หรือ สันสกฤต อยู่ส่วนหน้า หรือ ส่วนหลังของคำก็ได้ แต่อีกคำหนึ่งที่มารวมกันนั้น ไม่ใช่คำยืมจากภาษาบาลี และ สันสกฤต ดังนี้

๑. คำสมาสเทียมที่มีคำภาษาบาลี หรือ สันสกฤต อยู่ส่วนหน้าของคำ เช่น

รูปคำ ที่มาของภาษา

ภาษาบาลี หรือ / และ สันสกฤต ภาษาอื่น

ภูมิลำเนา ภูมิ ( ป , ส ภูมิ ) ลำเนา ( ข ลํเนา )

เภสัชเคมี เภสัช ( ป เภสชฺช ) เคมี ( อ CHEMISTRY )

เทพเจ้า เทพ ( ป , ส เทว ) เจ้า ( ท เจ้า )

ราชดำเนิน ราช ( ป , ส ราช ) ดำเนิน ( ข ฎํเณีร )

สรรพสินค้า สรรพ ( ส สรฺว ) สินค้า ( ท สิน + ค้า )

๒. คำสมาสเทียมที่มีคำภาษาบาลีหรือสันสกฤตอยู่ส่วนหลังของคำ เช่น

รูปคำ ที่มาของภาษา

ภาษาอื่น ภาษาบาลี หรือ / และ สันสกฤต

บรรทัดฐาน บรรทัด ( ข บนฺทาต่ ) ฐาน ( ป ฐาน )

คริสตจักร คริสต์ ( อ CHRIST ) จักร ( ส จกฺร )

ทุนทรัพย์ ทุน ( ท ทุน ) ทรัพย์ ( ส ทฺรวฺย )

บรรดาศักดิ์ บรรดา ( ไม่ทราบที่มา ) ศักดิ์ ( ส ศกฺติ )

วิดีโอเพิ่มเติม

บทสวดมงคลสูตร

มงคลสูตรมงคลอันสูงสุตร

ข้อมูลส่วนนี้สรุปมาจาก :

ศึกษาธิการ, กระทรวง. ( ๒๕๔๕ ). บรรทัดฐานภาษาไทย เล่ม ๑. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา

ลาดพร้าว.

________. ( ๒๕๔๙ ). บรรทัดฐานภาษาไทย เล่ม ๒. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

Leave a comment